วันศุกร์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2557

กลุ่มคำ/วลี และประโยค

6. กลุ่มคำ หรือวลี
            กลุ่มคำ คือ การที่คำหลายคำมารวมกันแล้วมีความหมายเพิ่มขึ้น
ข้อสังเกต  กลุ่มคำ ต่างจากคำประสมตรงที่ คำประสมจะมีความหมายใหม่เกิดขึ้น ส่วนกลุ่มคำมีเพียงความหมายเพิ่ม  ทั้งนี้ต้องพิจารณาบริบทของคำนั้นด้วย
ส่วนกลุ่มคำ ต่างจากประโยค ตรงที่ ประโยคจะมีใจความที่สมบูรณ์ทั้งภาคประธาน และภาคแสดง

ตัวอย่าง

คำประสม                                    กลุ่มคำ
ลูกเสือเข้าค่าย                                       ลูกเสือวิ่งเล่นอยู่ในกรง

ประโยค                                      กลุ่มคำ                   
กระดาษสีมีราคาถูก                               กระดาษสีราคาถูก         

7. ประโยค
            ประโยคในภาษาไทย หากพิจารณาตามโครงสร้างมี 3 ประเภท คือ ประโยคความเดียว ประโยคความรวม และประโยคความซ้อน

ประโยคความเดียว
ประโยคความเดียว คือ ประโยคที่มีใจความสำคัญเพียงใจความเดียว อย่างไรก็ดี ประโยคความเดียวก็อาจมีความซับซ้อนได้ เช่น

            ที่ห้องที่บ้านของฉันเหนือภูผาสูงที่จังหวัดตากทาสีชมพู
            การส่งเสริมกีฬาในร่มแก่คนหนุ่มสาวช่วยส่งเสริมพลานามัยที่สมบูรณ์ –
            รูปปั้นช้างงาเดียวสีขาวเขี้ยวยาวตัวสูงใหญ่สีดำมีรายละเอียดมาก
          นักกีฬาวิ่งกระโดดกระโจนข้ามรั้วด้วยความดีใจ
            นักเรียนค่อยๆ ดึงสุนัขออกจากกรง
           
ประโยคความรวม
ประโยคความรวม คือ ประโยคที่มีใจความมากกว่าหนึ่ง มักปรากฏคำเชื่อม และการเชื่อมความใน 4 ลักษณะ คือ การเชื่อมแบบคล้อยตาม การเชื่อมแบบขัดแย้ง การเชื่อมแบบให้เลือก และการเชื่อมแบบเป็นเหตุเป็นผลกัน ตัวอย่างของประโยคความรวมที่มีความซับซ้อน เช่น

            สุนัขป่าออกวิ่งไล่ตามติดเหยื่อ แต่ฝูงสิงโตเข้ามาแย่งชิงเหยื่อไปได้
            นักเรียนไม่ตั้งใจเรียน และขาดเรียนมากเกินไป จึงไม่มีความรู้และสอบตก
            ป่าไม้ให้ความชุ่มชื้นทำให้โลกเย็น ดังนั้น ถ้าคนทำลายป่าไม้เพิ่มขึ้นจะทำให้โลกร้อนขึ้น
  



ประโยคความซ้อน
ประโยคความซ้อน คือ ประโยคที่มีใจความร่วมกันแบบใจความหลักกับใจความรอง แบ่งเป็น 3 ประเภทของการซ้อนความ คือ นามานุประโยค (ทำหน้าที่เป็นเหมือนนามในประโยค)คุณานุประโยค (ขยายคำนาม ตามหลังคำว่า ที่ ซึ่ง อัน) และวิเศษณานุประโยค (ขยายกริยา และวิเศษณ์ มักตามหลังคำว่า ให้ ว่า)

            นักกีฬาขาดการฝึกซ้อมทำให้แข่งขันตกรอบสุดท้ายนำความเสียใจมาสู่ทุกคน
            ละครที่ครูและนักเรียนแสดงร่วมกันได้รับความชื่นชมมาก
            เขาบอกว่า เขายิงโจรอย่างไม่ลังเลด้วยกระสุน 6 นัดจนตายคาที่
            การพิจารณาประโยคอีกรูปแบบหนึ่ง คือ การพิจารณาจากเจตนาในการสื่อสาร แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ
1.      ประโยคแจ้งให้ทราบ (บอกเล่า, ปฏิเสธ)
แม่ชอบกินขนมถ้วยที่ขายอยู่ตรงปากทางเข้าตลาด
แม่ไม่อยากไปงานนี้เพราะไม่มีคนรู้จักไปด้วย

2.      ถามให้ตอบ (คำถาม)
เธอชอบทำการบ้านตอนกลางคืนเสมอหรือ

3.      บอกให้ทำ (ขอร้อง, คำสั่ง)
กรุณาตอบให้ตรงคำถาม

ห้ามเดินลัดสนาม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น